รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดสัมมนา “ปลดล็อกเกษตรไทย ทุกปัจจัยคือโอกาส” ด้าน สศก. แถลง GDP เกษตร ปี 67 หดตัวร้อยละ 1.1 คาด ปี 68 ขยายตัวร้อยละ 1.8 – 2.8
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษงานสัมมนาใหญ่ประจำปีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) “ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2567 และแนวโน้มปี 2568 Unbox & Unlock Thai Agriculture : ปลดล็อกเกษตรไทย ทุกปัจจัยคือโอกาส” สำหรับแนวทางการปลดล็อกและพัฒนาภาคเกษตร จะต้องใช้ทั้งความรู้ ทักษะ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวทาง ดังนี้
- การรับมือกับภัยธรรมชาติ มีการวางแผนและดำเนินมาตรการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การป้องกัน แก้ไขปัญหา และฟื้นฟู เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ
- การประกันภัยสินค้าเกษตร โดยการส่งเสริมการประกันภัยพืชผล เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน
- การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และต่อยอดสู่เกษตรและบริการมูลค่าสูง
- การทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวทางของ BCG โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น EUDR CBAM และ Carbon Credit การแก้ปัญหา PM 2.5 ส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ และส่งเสริมการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน
- การยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง การสร้าง Brand หรือ Story ของจังหวัด/อำเภอ โดยเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
- การพัฒนาเครื่องมือในการติดตามสถานการณ์ภาคเกษตรในระดับโลก โดยอาศัยข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้วิเคราะห์ เตือนภัย และเฝ้าระวังปัจจัยที่ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อการทำการเกษตร
- การปรับปรุงกฎระเบียบ/กฎหมาย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการศึกษากฎระเบียบและกฎหมายของประเทศคู่ค้าที่จะมีผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรของไทย เพื่อการปรับตัวและเตรียมการให้ทันต่อสถานการณ์
ด้าน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2567 พบว่า หดตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยสาขาพืช สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัว ขณะที่สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ยังคงขยายตัวได้ โดย สาขาพืช หดตัวร้อยละ 1.7 เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี 2567 ทำให้ปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา สภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชสำคัญหลายชนิด และการเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญาในเดือนกันยายน 2567 ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับมรสุมและมีฝนตกหนัก เกิดอุทกภัยและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรบางส่วนได้รับความเสียหาย พืชสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สับปะรดปัตตาเวีย ยางพารา ทุเรียน และเงาะ อย่างไรตาม พืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ปาล์มน้ำมัน ลำไย และมังคุด สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 3.2 เป็นผลจากความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ
สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.2 โดยไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ขณะที่ญี่ปุ่นยังมีความต้องการใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับการผลิตไฟฟ้า ส่วนรังนก ยังมีความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ถ่านไม้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม ไม้ยางพาราลดลงตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่นของการยางแห่งประเทศไทย ประกอบกับราคายางพาราที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรมีการตัดโค่นไม้ยางพาราลดลง และผลผลิตครั่งลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและร้อนจัด
ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/91550