คาร์บอนเครดิต กลไกสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

image

คาร์บอนเครดิต กลไกสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

คาร์บอนเครดิตคืออะไร

       คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงหรือกักเก็บได้จากการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับกรณีการดำเนินธุรกิจตามปกติ (Business-as-Usual: BAU) มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) โดยปริมาณนั้นต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานต่างๆ และสามารถนำไปซื้อขายระหว่างผู้ต้องการชดเชยการปล่อยคาร์บอนและผู้ที่ลดการปล่อยคาร์บอนได้ กลไกดังกล่าวจึงสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ลดการปล่อยคาร์บอนลง

       โดยทั่วไปคาร์บอนเครดิตจะมีที่มาจากโครงการ 2 ประเภทหลัก ได้แก่

  1. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas reduction) เช่น การใช้พลังงานทดแทน การปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน และการจัดการของเสีย
  2. การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas removal) เช่น การใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน และการปลูกป่า

โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จาก BAU ต้องได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานต่าง ๆ เป็นคาร์บอนเครดิตก่อน ผู้ดำเนินโครงการลดคาร์บอน (Supply) จึงจะสามารถนำไปขายแก่ผู้ต้องการชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Demand) ได้

ที่มา : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

ประโยชน์และความสำคัญของคาร์บอนเครดิต

       แม้หลายองค์กรจะตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่บางองค์กรอาจยังไม่สามารถดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเองได้ จึงต้องอาศัยการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพื่อบรรลุเป้าหมายสีเขียว โดยคาร์บอนเครดิตเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ งานอีเว้นท์ และบุคคลได้ อีกทั้งยังใช้เป็นกลไกในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอนเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดกลับคืนผ่าน 3 กลไก ได้แก่ การลด การดูดกลับ และการชดเชยด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต

       กลไกคาร์บอนเครดิตยังส่งเสริมให้เกิดแนวทางการลดและกักเก็บการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจก และการพัฒนาระบบการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (Measurement, Reporting and Verification: MRV) ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการรับรองคาร์บอนเครดิต ยิ่งไปกว่านั้น ในมุมของผู้ซื้อ สามารถนำปริมาณคาร์บอนเครดิตไปรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ซึ่งท้ายที่สุดจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรได้ ในขณะที่ผู้พัฒนาโครงการเองสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย

       นอกจากนี้ คาร์บอนเครดิตที่ได้รับจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถถ่ายโอนระหว่างประเทศได้ ตามมาตราที่ 6 ของความตกลงปารีส (Article 6 of Paris Agreement) ภายใต้แนวทางและระบบติดตามที่หลีกเลี่ยงการนับผลการลดก๊าซเรือนกระจกซ้ำ (Double counting) สะท้อนว่าผู้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตจะมีโอกาสจากทั้งตลาดในประเทศและตลาดระหว่างประเทศ ที่มุ่งไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนเช่นเดียวกัน

       คาร์บอนเครดิตจากโครงการแต่ละประเภทมีราคาซื้อขายแตกต่างกัน โดยประเภทโครงการที่ขายคาร์บอนเครดิตได้ราคาดีที่สุดในไทย คือ การปลูกป่า (ราคาสูงสุดถึง 2,000 บาท/tCO2eq ในปี 2565) เนื่องจากเป็นโครงการที่ลงทุนสูง แต่สามารถให้เครดิตในระยะยาวได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้ของโลก

       อย่างไรก็ตาม เครดิตจากโครงการปลูกป่ายังมีการซื้อขายไม่มาก เมื่อเทียบกับโครงการพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานชีวมวล ชีวภาพ และแสงอาทิตย์ เนื่องจากโครงการปลูกป่าใช้เวลานานกว่าเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต ทั้งนี้ ในปี 2566 ช่วงเดือนมกราคม - สิงหาคม มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้แล้ว 208,030 tCO2eq ซึ่งมากเป็นอันดับสองรองจากโครงการพลังงานชีวมวล แต่ที่น่าสนใจคือราคาเครดิตจากป่าไม้เฉลี่ยคือ 173 บาท/tCO2eq ในขณะที่ราคาของชีวมวลอยู่ที่เพียง 36 บาท/tCO2eq เท่านั้น นอกจากนี้ โครงการที่ขายคาร์บอนเครดิตได้ราคาสูงในปี 2566 คือการทำปุ๋ยหมัก พลังงานชีวภาพ และพลังงานลม ซึ่งล้วนมีราคาขายเฉลี่ยเกิน 200 บาท/tCO2eq

       นอกจากประเภทโครงการแล้ว ราคาของคาร์บอนเครดิตยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ

  1. ผู้ให้การรับรองเครดิต ซึ่งราคาซื้อขายแตกต่างกันตามแต่ละมาตรฐาน
  2. อายุของเครดิต ซึ่งเครดิตที่ได้รับรองใหม่ๆ จะขายได้ราคาสูงกว่าเพราะเป็นที่ต้องการมากกว่า
  3. ประโยชน์ร่วมของโครงการ เช่น การสร้างพื้นที่สีเขียวและการลดมลพิษ ซึ่งจะตอบสนองความพึงพอใจของผู้ซื้อที่แตกต่างกันไป

 

ที่มา : https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/carbon-credit-2023